คณะเกษตรบูรณาการความรู้สู่ชุมชนสอนแปรรูปผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยหัวข้อ “เทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าเนื้อสัตว์” จาก คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567

โดย รศ.ดร.คมแข พิลาสมบัติ รองคณบดี พร้อมด้วย คุณจันทร์เพ็ญ เอื้อสกุลรุ่งเรือง นักวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์
ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอกสมุนไพรจากเนื้อปลา
ลาบปลาทอด ทอดมันปลา เบอร์เกอร์ปลา ให้ชาวชุมชนได้นำไปประยุกต์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในชุมชน
ชุมชนคลองแขวงกลั่น เป็นชุมชนเกษตรกรรม และเป็นสถานที่สำหรับดูงานตามรอยศาสตร์พระราชาในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบ้านคลองแขวงกลั่น ในปี พ.ศ. 2561 มีการจัดตั้งการท่องเที่ยวโดยชุมชนในโครงการ OTOP นวัตวิถีขึ้น
จุดเด่นของชุมชนคลองแขวงกลั่น คือ การนำความเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาร่วมสมัย ใช้แหล่งน้ำผืนนาความเป็นธรรมชาติผสานกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนคลองแขวงกลั่นมีผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาขึ้นโดยเกษตรกรในชุมชน ได้แก่ ขนมไทย
เครื่องแกง และจ๊อปลาที่ทำจากเนื้อปลากะพง ถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องลองชิมเมื่อได้มาเยือนชุมชนคลองแขวงกลั่น
แต่เนื่องด้วยสภาวะโรคระบาด Covid-19 ที่ผ่านมาทำให้กิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการ ได้รับผลกระทบและหยุดดำเนินการไป
ดังนั้น คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. จึงได้จัดทำโครงการยุวชนอาสา “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนคลองแขวงกลั่น ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา” ที่ได้บูรณาการความร่วมมือจากคณาจารย์ 4 หลักสูตร คือ
หลักสูตรพัฒนาการเกษตร ที่เน้นการลงพื้นที่ชุมชน พัฒนาชุมชน ร่วมกับหลักสูตรเศรษฐศาสตร์และธุรกิจเพื่อพัฒนาการเกษตร
และนิเทศศาสตร์เกษตร รวมถึงหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์
โดย ดร.เอกพล ทองแก้ว ผู้ประสานงานโครงการ ให้ข้อมูลว่า “คณาจารย์และนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรของคณะ มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะสามารถร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน โดยจะช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า วางแผนการจัดการและบริหารการท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ต้องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรในพื้นที่ ให้คนรู้จักเอกลักษณ์ชุมชนและสนใจมาท่องเที่ยวมากขึ้น
นอกจากนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับประสบการณ์และการฝึกทักษะในพื้นที่จริง ได้ออกแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร วางแผนกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ช่วยให้ชุมชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน”
หากสนใจดูรูปภาพเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ผ่านทาง facebook ของคณะ หรือ คลิกที่นี่
Scroll to Top